ความเป็นมา
วรรณกรรมท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆถือเป็นสื่อกลางในการสะท้อนความคิด ความรู้สึก วิถีชีวิตในแง่มุมต่างๆของผู้คนในชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยบันทึกผ่านภาษาและตัวอักษรที่มีใช้อยู่ในชุมชนนั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของไทย ถือเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีนักปราชญ์ นักคิด นักเขียนวรรณกรรมจำนวนมากและหลายรูปแบบทั้งวรรณกรรมพุทธศาสนา วรรณกรรมประวัติศาสตร์ ตำนาน วรรณกรรมคำสอน วรรณกรรมนิทาน วรรณกรรมเบ็ดเตล็ดต่างๆ โดยอยู่ในรูปการจารไว้ในใบลาน สมุดข่อย ด้วยตัวอักษรธรรม ตัวอักษรไทยน้อยและตัวอักษรขอม ช่วงหลังได้มีการปริวรรตและจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันสามารถอ่านและเข้าถึงวรรณกรรมต่างๆ ดังกล่าว แต่วรรณกรรมเหล่านั้นมีจำนวนมาก มีผู้แต่งหลายสำนวนและอยู่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงเห็นความจำเป็นในการในการค้นคว้ารวบรวมวรรณกรรมอีสานทั้งหลายมาจัดทำ “นามานุกรมวรรณกรรมอีสาน”ขึ้น เพื่อให้ผู้สนใจที่ประสงค์จะรู้จักและศึกษาวรรณกรรมอีสานได้มีแหล่งข้อมูลค้นคว้าเป็นเบื้องต้น ก่อนที่จะศึกษาจากฉบับสมบูรณ์ต่อไป

|